ทรัพย์อันประเสิรฐที่จะติดตัวเราไปทุกภพทุกชาติ

      ทรัพย์ทางโลกต่างๆที่เราทุกคนได้ดิ้นรนแสวงหา มีสังคม มีการดิ้นรน เพื่อปากท้อง ทำงานสร้างอาชีพ เก็บเงินซื้อบ้านซื้อรถ เครื่องประดับ ทรัพย์ทางโลกเหล่านี้ จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีชีวิตอยู่เท่านั้น

      แต่คนเราทุกคน เมื่อเกิดมาแล้วย่อมได้ ความแก่ ความเจ็บ ความตายร่วมอยู่ด้วย เมื่อร่างกายดับสูญสิ้นไปแล้ว ทรัพย์ทางโลกทั้งหลายเราไม่สามารถนำพาติดตัวไปได้แม้แต่ชิ้นเดียว…

      หากเราเป็นชาวพุทธเป็นคนที่นับถือศาสนาพุทธ ศาสนาพุทธได้สอนถึงความเชื่อในเรื่องของกรรม ความเชื่อของการเวียนว่ายตายเกิด รวมถึงธาตุขันธ์ที่มี ประกอบไปด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จะมีธาตุขัน์ที่จะนำทรัพย์บางอย่างติดตามเราไปทุกภพทุกชาติ

      ทรัพย์อันประเสริฐนี้ เรียกว่า “ อริยทรัพย์ ” เป็นทรัพย์ที่อยู่ภายในตัวเราอยู่คู่กับเราและมีผลเกื้อกูลต่อชีวิตของเราทั้งในชาตินี้และชาติหน้า เป็นทรัพย์เราสามารถที่จะฝังลงในสัญญาขันธ์ ติดตัวเราไปทุกภพทุกชาติ

      อริยทรัพย์ มี 7 อย่าง ได้แก่ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะ และ ปัญญา

      1) ศรัทธา คือ ความเชื่อ เชื่ออย่างไม่มีข้อสงสัยจึงเรียกว่าศรัทธาในที่นี้หมายถึง เชื่อในเรื่องของกรรมโดยเชื่อว่า “ ทำดีย่อมได้ดี…ทำชั่วย่อมได้ชั่ว…”  ได้กระทำกรรมอันใดไว้ ย่อมได้รับผลของกรรมนั้น

      2) ศีล ได้แก่ การประพฤติสุจริตทางกาย ทางวาจาและทางใจ
หากรักษาศีลได้ก็ไม่เบียดเบียนผู้อื่นและไม่ต้องมีวิบากกรรมอันเป็นเหตุให้ผู้อื่นมาเบียดเบียนตนคนที่มีศีล “ ย่อมมีคนรักเมตตา ” คอยสนับสนุน

      3) หิริ คือ ความละอายต่อบาป สามารถควบคุมตนเองได้โดยไม่ต้องมีกฎระเบียบหรือผู้อื่นมาควบคุม เพราะจิตได้ยกระดับขึ้นสูงแล้ว ย่อมมีเมตตาที่จะ “ ไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น ” ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง

      4) โอตตัปปะ คือความเกรงกลัวต่อบาปเพราะเชื่อเรื่องผลของกรรม  โดยเชื่อว่าหากตนทำบาปอกุศล โดยไปทำร้ายทำลายผู้อื่นแล้วจะต้องได้รับผลแห่งการกระทำตอบสนองในภายหลัง ซึ่งอาจรุนแรงยิ่งกว่าทำกับผู้อื่นด้วย

      5) พาหุสัจจะ ได้แก่การเป็นผู้ได้ยินได้ฟังศึกษามามาก มีความอ่อนน้อมถ่อมตนที่จะเข้าไปศึกษาหาความรู้จากผู้รู้ (สัตบุรุษ) เปิดใจรับความรู้ต่างๆมาพิจารณาเกิดเป็น “ ปัญญาชั้นต้นเรียกว่า สุตมยปัญญา ”  จากนั้นนำความรู้ที่ได้รับมาวิเคราะห์  จัดระบบความรู้จนสามารถต่อยอดเป็นความรู้ของตนได้เรียกว่า จินตามยปัญญา ความรู้ทำให้คนเราเฉลียวฉลาด ไม่ถูกชักจูงไปในทางที่ผิด

      6) จาคะ ได้แก่ การมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ แบ่งปันทรัพย์ของตนให้กับผู้อื่นไม่เห็นแก่ตัว ไม่คิดเอาเปรียบผู้อื่นเป็นจิตที่มีเมตตา “ ปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์เดือดร้อน ” เป็นที่พึ่งของผู้ที่มีทุกข์มีภัย  บุคคลดังกล่าวย่อมเป็นที่รักของผู้ที่สัมพันธ์ด้วย

      7) ปัญญา ได้แก่  เป็นผู้รู้ที่สามารถ “ แยกแยะผิดชอบชั่วดีได้ ” รู้ว่าสิ่งใดดีมีสาระ เป็นบุญกุศล เป็นไปเพื่อประโยชน์ตนหรือประโยชน์เกื้อกูลต่อผู้อื่นก็จะทำสิ่งนั้นโดยไม่ท้อถอย เช่นเดียวกับที่รู้ว่าสิ่งใดไม่มีสาระเป็นบาปอกุศล เป็นการเบียดเบียนตนเองหรือผู้อื่นก็จะหักห้ามใจไม่ทำสิ่งนั้น

      ทุกท่านที่ได้อ่านมาถึงตรงนี้ ถือว่ามีบุญสัมพันธ์ต่อกันไม่มากก็น้อย อยากเชิญชวนทุกท่านมาแสวงหาอริยทรัพย์ เพื่อเป็นที่พึ่งทั้งในชาตินี้และชาติหน้า เป็นทรัพย์ที่ไม่มีใครมาแย่งชิงจากเราไปได้ เป็นทรัพย์อันประเสริฐที่จะนำพาชีวิตของเราไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองอย่างแท้จริง