ทำความเข้าใจระดับของสมาธิและอารมณ์ในสมาธิ

      สำหรับทุกท่านที่อยากจะเริ่มฝึกสมาธินะครับอยากให้ทำความเข้าใจก่อนว่า สมาธิคืออะไร “ สมาธินั้นจริงๆแล้วไม่จำเป็นจะต้องนั่งอยู่เฉยๆ ” แล้วภาวนาอย่างเดียว การทำงานอย่างอื่น ยืน เดิน นั่ง นอน เรียน กินข้าว ออกกำลังกาย การใช้ชีวิตปัจจุบัน ก็เป็นสมาธิได้ทั้งหมด

      แนวทางที่ผมจะถ่ายทอดในหนังสือธรรมนิมิตนี้ ผมจะมุ่งเน้น การฝึกเพื่อให้เกิดปัญญา ปัญญาที่จะขัดเกลาจิตใจตนเอง เพื่อการ ละวางจากความทุกข์ และวัดผลความก้าวหน้าสมาธิ ของท่านได้ด้วยตัวเอง

      การวัดผลความก้าวหน้าจากการฝึก ให้สังเกตมองดูที่จิตของตัวเองว่า ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ความโกรธ ความอิจฉา ความไม่สบายใจต่างๆ ของท่านลดลงไหม

      …ถ้าลดลง แปลว่าทำได้ถูกทางตามเป้าประสงค์ของผม… และ หนังสือ ธรรมนิมิต นี้ แต่ก็มีหลายท่านต้องการฝึกสมาธิเพราะอยาก เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ อยากได้แบบนั้น แบบนี้ อยากเห็นจุฬามณี อยากเห็นสวรรค์ อยากเห็นนรก อยากได้ของขลัง หรือความประสงค์อื่นๆ ก็สามารถทำได้ แต่ผมจะไม่ได้อธิบายวิธีการไว้ในหนังสือ ธรรมนิมิต นี้ครับ

      เริ่มต้นต้องทำความเข้าใจ กันแบบง่ายๆ ก่อนว่า กายกับจิต แยกออกจากกันได้ จิตที่จดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็จะเป็น “สมาธิ” สมาธิที่จดจ่อด้วยการเพ่งอารมณ์เป็นสมาธิแบบ “ฌาน”

      สมาธิ แบ่งตาม “กำลังสมาธิ” ที่กำหนดจิตจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยมากใช้การกำหนด คำภาวนา ควบคู่ กับการตามดูรู้ลมหายใจ เข้าออก จะเป็นพุทโธ พองหนอ หรือจะเป็นบทสวดมนต์ใดๆ ก็ไม่ผิด คือมุ่งให้จิต จอจ่อกับคำภาวนา สมาธิแบบนี้สามารถแบ่งได้ 3 ระดับ คือ

      1)ขณิกสมาธิ    2) อุปจารสมาธิ    3) อัปปนาสมาธิขณิกสมาธิ

ขณิกสมาธิ
เป็น สมาธิที่เกิดขึ้นชั่วระยะหนึ่ง ตั้งใจมั่นได้เล็กน้อย หรือนิดๆ หน่อยๆ ภาวนา หรือ กำหนดรู้ลมหายใจได้ นิดเดียว จิตก็ไปคว้าเอาความรู้สึกนึกคิดอารมณ์ภายนอกคำภาวนามาคิด

อุปจารสมาธิ
อุปจารสมาธิ เป็นสมาธิที่มีความตั้งมั่นมากขึ้น ประณีตมากขึ้นคุมอารมณ์สมาธิไว้ได้นานพอสมควร มีอารมณ์ใสสว่างพอใช้ได้ แต่ยังไม่ลึกและแน่วแน่ มีความฟุ้งซ่าน ส่ายไปมาและยังมีการรับรู้อยู่บางระดับหนึ่งเรียกว่า “ใกล้กับการที่จิตเป็นองค์ฌาน ”

อัปปนาสมาธิ
อัปปนาสมาธิ หมายถึง สมาธิที่แนบสนิทอยู่ในฌาน ฌานเหล่านี้จัดเป็นระดับของสภาวจิตที่อยู่เหนือการรับรู้จากประสาทสัมผัสทั้ง ๕ “ สามารถข่มนิวรณ์ 5 และ ดับกิเลส ” ได้ตลอดเวลาถ้ายังไม่ออกจากฌาน

      สมาธิ แบ่งตาม “องค์ฌาน” คือ การเพ่งดูอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นโดยจะเพ่งอารมณ์ 5 อย่างคือ วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตา การฝึกสมาธิแบบนี้ ต้องฝึกจิตให้จดจ่อจนได้ระดับสมาธิที่ อุปจารสมาธิ ขึ้นไป สมาธิแบบนี้สามารถแบ่งได้ 8 ระดับ คือ รูปฌาน ๔ และ อรูปฌาน ๔

      ยังมีฌานพิเศษอีก 1 ระดับ(ฌาณ9) คือ “สัญญาเวทยิตนิโรธ” หรือนิโรธสมาบัติ ผู้ที่จะเข้าสมาบัติขั้นนี้จะต้องเป็นพระอนาคามีหรือพระอรหันต์ผู้ได้สมาบัติ 8แล้วนั้น

      คราวนี้เรามาดูความหมายและอารมณ์แต่ละขั้นของฌานกันครับ เพื่อให้เข้าใจมากขึ้นและฝึกฝนตามดูรู้อารมได้ถูกต้องครับ

   รูปฌาน ๔ มีลำดับดังนี้
1)ปฐมฌาน(ฌานที่ 1)ประกอบด้วยอารมณ์ วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตา
2)ทุติยฌาน(ฌานที่ 2)ประกอบด้วยอารมณ์ ปิติ สุข เอกัคคตา
3)ตติยฌาน(ฌานที่ 3)ประกอบด้วยอารมณ์ สุข เอกัคคตา
4)จตุตถฌาน (ฌานที่ 4)ประกอบด้วยอารมณ์ อุเบกขา เอกัคคตา

   อรูปฌาน ๔ มีลำดับดังนี้
1) อากาสานัญจายตนะ (กำหนดที่ว่างหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์)
2) วิญญาณัญจายตนะ (กำหนดวิญญาณหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์)
3) อากิญจัญญายตนะ (กำหนดภาวะที่ไม่มีอะไรๆ เป็นอารมณ์)
4) เนวสัญญานาสัญญายตนะ (ภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่)

      การจำแนกองค์ฌานใช้การจะเพ่งอารมณ์ 5 อย่าง คือ วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตา โดยทั้ง 5 อย่างนี้ จะมี อารม ความรู้สึกที่แตกต่างกันไป ผู้ปฏิบัติทุกท่าน ควรทำความเข้าใจ อารมณ์แต่ละแบบนี้ ไว้ให้ดี ครับ

      “วิตก” คือความกำหนดจิตนึกคิดองค์ภาวนาหรือกำหนดรูปกสิณต่างๆ บางท่านใช้การเพ่งภาพพระ ภาพหลวงปู่เทพโลกอุกร เพ่งแสงสว่าง แสงเทียน ก็ไม่ผิดอันใด กำหนดจิตอยู่ได้ไม่คลาดเคลื่อน ในเวลานานพอสมควร

      “วิจาร” คือ การใคร่ครวญในรูปกสิณองค์ภาวนา มีอาการ เคลื่อนไหวหรือคงที่ มีสีสันวรรณะเป็นอย่างไร เล็กหรือใหญ่ สูงหรือต่ำ จิตกำหนดรู้ไว้ได้ ถ้าเป็นองค์ภาวนา ภาวนาครบถ้วนไหม ผิดถูกอย่างไร กำหนดรู้เสมอ ถ้ากำหนดลมหายใจ ก็กำหนดรู้ว่าหายใจเข้าออกยาวหรือสั้น เบาหรือแรง รู้อยู่ตลอดเวลา

      “ปีติ” ความปลาบปลื้มเอิบอิ่มใจ ไม่เบื่อ มีจิตใจชุ่มชื่นเบิกบาน ในการ เจริญภาวนาอารมณ์ผ่องใส มีความสว่างปรากฏคล้ายใครนำแสงสว่างมาวางไว้ใกล้ๆ บางคราวก็เห็นภาพและแสงสีปรากฏ เป็นครั้งคราว แต่ปรากฏอยู่ไม่นานก็หายไป

      บางท่านเวลาเกิดปิติ ตกใจกลัวบ้าง ถอนออกจากสมาธิบ้างก็ทำให้ไม่ก้าวหน้าไปไหน บางท่านคิดปรุงแต่งว่านี่ คือสำเร็จแล้วบรรลุธรรม แล้วก็ติดกับอาการ ต่างๆก็ไม่ก้าวหน้าอีก

      ฉะนั้นผู้ปฏิบัติ ต้องทำความเข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติของสมาธิ แค่กำหนดรู้ และกลับมาที่องค์ภาวนา และตามดูรู้ลมไปเรื่อยๆ อย่าปรุงแต่ง…คิดเพิ่มเติมใดๆ จะทำให้สมาธิถอนออกไม่ก้าวหน้า

   อาการปิติ มีได้ดังต่อไปนี้ครับ
1) อาการขนลุกขนชัน ซู่ซ่า ซ่าบซ่านไปทั่วร่างกาย
2) อาการน้ำตาไหลจากตาโดยไม่มีอะไรไปทำให้ตาระคายเคือง
3) อาการรู้สึกว่า ร่างกายโยกโคลง กระตุก เอียง หรือ หมุน
4) อาการรู้สึกว่า ร่างกายเบา หวิว โปร่ง เหมือนจะลอย
5) ร่างกายใหญ่โต สูงขึ้น ยืด หนัก แข็ง เกร็ง อย่างผิดปกติ

      “สุข” ความสุขชื่นบาน เป็นความสุขที่ละเอียดอ่อน ไม่เคยปรากฏการณ์มาก่อน “ เป็นความสุขแบบประณีต ” สมาธิก็ตั้งมั่นมาก จะนั่งสมาธินานแสนนานก็ไม่รู้สึกปวดเมื่อย อาการปวดเมื่อยจะมีก็ต่อเมื่อคลาย

      “เอกัคคตา” คือจิตที่มีสมาธิแน่วแน่ในอารมณ์เดียว เมื่อจิตตั้งอยู่ในอารมณ์ที่เพ่ง จิตก็ไม่ได้มีอารมณ์อื่นใดอีกเลย ไม่ได้คิดคำนึงถึงรูป เสียง กลิ่น รส หรือการสัมผัส แน่วแน่ในอารมณ์ที่เพ่งอย่างเดียวเท่านั้น และตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่เพ่ง ต่อเนื่องติดต่อกันไปได้เป็นเวลานาน

      ผมขอสรุปง่ายๆ สั้นๆ เพื่อความเข้าใจ และ จดจำได้ง่าย แบบนี้ครับ
วิตก… รู้ว่ามีอยู่
วิจาร… รู้ว่าเป็นอย่างไร
ปิติ… สภาวะต่างๆที่เกิดขึ้นกับกาย
สุข… ความสุขอิ่มเอิบใจ
เอกัคคตา… ความนิ่งสงบสงัด

      ทุกท่านต้อง ทำความเข้าใจ…และ จดจำ… ความหมาย แต่ละขั้นแต่ละช่วงให้ดี เพื่อในการฝึก เราจะสามารถรู้เท่าทัน อาการต่างๆ ไม่ตกใจ ไม่แปลกใจ

      ไม่สงสัยมิเช่นนั้นแล้วความลังเลสงสัยต่างๆ จะทำให้มีความรู้สึกปรุงแต่งไปต่างๆนานาๆ จนทำให้สมาธิไม่ก้าวหน้า อย่าฟุ้งตาม เขาเล่าว่า ฟังๆ ต่อๆ กันมา ฟุ้งเอง ปรุงแต่งเองไปเรื่อยเปื่อย ทั้งๆที่ยังไม่มี ฌาน กับเขาเลย…