แนวทางแห่งปัญญา การปฎิบัติที่สำคัญยิ่ง ( วิชชา ๘ )

      อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ

      บทสรรเสริญ พระพุทธคุณ เชื่อว่าหลายท่านคงเคยได้สวดกันอยู่เป็นประจำ มีประโยคหนึ่ง “วิชชาจรณสัมปันโน” หมายถึง ผู้ถึงพร้อมด้วย “วิชชา” และ “จารณะ” ซึ่งเป็น แนวทางสำหรับผู้ปฏิบัติที่สำคัญยิ่ง เรียกได้ว่าเป็น “แนวทางแห่งปัญญา”

      วิชชา คือ ความรู้ที่เป็นญาณ ปัญญารู้แจ้ง ไม่ใช่ความรู้ที่ท่องจำ ส่วน จรณะ คือ การประพฤติปฏิบัติเป็นประจำ (คือแนวทางทั้งหมดในหนังสือธรรมนิมิตนี้)

      ความรู้ที่จะกล่าวถึงนี้ คือ วิชชา 8 ประการ ที่ประกอบไปด้วย

      1) วิปัสสนาญาณ (ความรู้ด้วยปัญญา) เป็นความรู้ที่จะเห็นตามความเป็นจริงในกายของเรา พิจารณาเห็นสังขาร คือ นาม คือ รูป ที่เป็นแค่ธาตุ 4 (ดิน น้ำ ไฟ ลม) ไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงไปได้ โดยไตรลักษณ์

      ผลที่เกิดขึ้นของ วิปัสสนาญาณ เมื่อเราเห็นความจริงนี้แล้ว เห็นความไม่เที่ยงนี้แล้ว จะทำให้เราไม่ไปยึดถือในสิ่งที่เราเห็นตามความเป็นจริงนั้น จิตจะคลายจาก ความยึดมั่น ถือมั่นต่างๆ

      2) มโนมยิทธิญาณ (ฤทธิ์ที่สำเร็จทางใจ) คือ นิรมิตกายอื่นออกจากกายนี้ เป็น กายทิพย์ มโนมัยกาย หรือ มโนมัยรูป ดุจชักไส้จากหญ้าปล้อง ชักดาบจากฝัก หรือชักงูออกจากคราบ

      ดังเช่นมีพระภิกษุบางรูป ได้ออกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในป่า แต่ว่าได้มีข้อติดขัดในการปฏิบัติ ก็ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จ ไปแสดงธรรมะสั่งสอนแก้ไขข้อที่ติดขัดนั้น พระพุทธเจ้าเสด็จไปนั้น ก็เสด็จไปด้วยมโนมัยกายหรือกายทิพย์นี้เอง

      3) อิทธิวิธญาณ (แสดงฤทธิ์ได้) ความรู้จักวิธีแสดงฤทธิ์ ก็คือน้อมจิต แสดงฤทธิ์ด้วยวิธีต่างๆ เช่น ปรากฏตัว หายตัว เดินทะลุฝากำแพง ภูเขา ดำดิน ดำน้ำ เดินบนน้ำ เหาะไปในอากาศ

      พระพุทธเจ้าก็เคยได้ทรงแสดงฤทธิ์ตอนที่ไปโปรดโจรองคุลีมาร ท่านก็ใช้ฤทธิ์ในการที่จะเดินไปได้เร็ว องคุลีมารไม่สามารถวิ่งตามได้ทัน

      การแสดงฤทธิ์ได้เปรียบเหมือนปาฏิหาริย์ หากคนที่ไม่มีศรัทธา พูดแล้วเขาก็จะไม่เชื่อ มันจะทำให้เกิดความไม่ดี ไม่เกิดประโยชน์ จึงมีศีลข้อหนึ่งของพระ คือ ห้ามแสดงฤทธิ์ จะต้องอาบัติเล็กน้อย

      4) ทิพยโสตญาณ (หูทิพย์) ความหยั่งรู้ด้วยทิพยโสต หูทิพย์ น้อมจิตฟังเสียงได้ ๒ อย่างคือ เสียงโลกทิพย์ หรือ เสียงโลกมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกล และทั้งที่อยู่ใกล้ ทิพยโสต เป็นเรื่องของการได้ยิน

      5) เจโตปริยญาณ (การกำหนดรู้ใจผู้อื่น) คือน้อมจิตไปเพื่อเจโตปริยญาณ ก็กำหนดรู้ใจได้ อ่านใจได้ รู้สภาวะของจิต ว่าเป็นอย่างไร มีสภาวะ โลภ โกรธ หลง อย่างไร

      6) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (การระลึกชาติได้) คือ การระลึกถึงชาติก่อนที่เคยเกิด ที่เคยมีมาเป็นมาอย่างไรได้ การจะระลึกย้อนไปได้กี่ชาติ ก็ขึ้นกับกำลังของ ฌาน

      7) จุตูปปาตญาณ (ตาทิพย์) มองเห็นเหตุแห่งการเกิดว่าคนหรือสัตว์นี้มีกรรมมาอย่างไร รับผลอะไรอยุ่ รู้อนาคต เพราะว่าเห็นเส้นทางที่เขาจะดำเนินไปจากจุดนี้ไปจุดนั้น ก็เพราะว่าเห็นทางดำเนินไปของจิตในจุดนั้นเป็นอย่างไร

      8) อาสวักขยญาณ (การรู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป) เมื่อรู้เหตุแห่งการเกิด ก็รู้เห็นทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ รู้เห็นอาสวะ (กิเลสที่ทับถมในจิต) เหตุเกิดอาสวะ ความดับอาสวะ จึงรู้วิธีที่จะทำอาสวะกิเลสให้สิ้นไปได้