แผนที่ชีวิต เข้าใจทุกข์ เข้าใจชีวิต ( อริยสัจ4 )

      เมื่อเข้าใจการพิจารณาอย่างแยบคายเป็นเหตุเป็นผลแล้ว เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้อยากให้ทุกท่านได้กลับมา “ ค้นหาคำตอบของชีวิตว่าตอนนี้เรารู้สึกอย่างไร ” รู้สึกพึงพอใจกับชีวิตที่ได้สัมผัส ความสุขความทุกข์ความรัก ความโกรธความหลง “ สัมผัสจนเพียงพอหรือยัง ”

      รู้สึกเบื่อหรือยัง หรือยังสนุกและเพลิดเพลินกับการใช้ชีวิต ยังมีความต้องการแสวงหา ความสุข ความสำเร็จทางโลกมากขึ้นไปอีกอยู่หรือเปล่า…อยากให้ระลึกไว้เสมอว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่หามาได้ไม่ว่าเป็นชื่อเสียงเงินทองความสะดวกสบายทุกอย่าง ล้วนใช้ได้แค่เพียง ช่วงชีวิตนี้ หลังจากที่ ชีวิตเราจบสิ้นลง ทุกอย่างก็สูญเปล่า… ไม่มีประโยชน์อันใดสำหรับเราอีกแล้ว แต่สิ่งที่จะติดตัวเราไปคือ “ อริยทรัพย์ ” จะติดตัวเราไปทุกภพทุกชาติ

      ความสุขความสำเร็จต่างๆที่แสวงหา ตอนนี้ยังมีความทุกข์ในจิตใจอยู่ร่วมด้วยหรือเปล่า… แล้วความทุกข์นี้ อยู่กับเรามานานแค่ไหนแล้ว… กี่วันกี่เดือนกี่ปี… ความทุกข์กับอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น ความทุกข์กับการใช้ชีวิตบนความอยากได้อยากมีอยากเป็น ความทุกข์ที่อยากได้ความสุขให้สมปรารถนา ทุกข์กับความรู้สึกไม่มั่นคงของการใช้ชีวิต

      บางท่านความทุกข์นี้เคยหายไปบ้างแล้ว แล้วก็กลับมาใหม่อีก ความทุกข์เรื่องเดิมหมดไป ความทุกข์เรื่องใหม่กลับมา วนเวียนไปมาอยู่แบบนี้ ไม่ว่าท่านจะเป็นคนที่นับถือศาสนาพุทธหรือศาสนาใด ที่ได้มีโอกาส “ อ่านหนังสือธรรมนิมิตนี้ ลองเปิดใจและทำความเข้าใจ ” ในสิ่งที่ผมถ่ายทอดแล้วลองปฏิบัติตามดูครับ

      ทุกท่านจะพบแผนที่เส้นทางลัดที่จะเดินไปสู่ความสุขอย่างยั่งยืน มีอยู่จริงในศาสนาพุทธ มีศาสดาเรียกว่า “ พระพุทธเจ้า ” และพระพุทธเจ้าในยุคปัจจุบันก็คือ ‘ พระโคตมะพุทธเจ้า ’ ท่านได้อธิบายถึงความจริงอันประเสริฐ 4 ประการที่เรียกว่า “ อริยสัจ 4 ” เป็นความจริงที่จะทำให้ทุกท่าน เข้าใกล้ความเป็นอริยบุคคลคือ บุคคลที่ห่างจากกิเลส หรือละวางลงได้ ความจริงอันประเสริฐประกอบไปด้วย 4 เรื่อง ทุกข์…สมุทัย…นิโรธ…มรรค…

ทุกข์
      คือสภาพที่ทนได้ยาก เชื่อว่าทุกคนก็ไม่อยากมีความทุกข์ ต้องพิจารณาให้ได้ว่าทุกวันนี้มันเป็นยังไง ทุกข์กับยอดขาย… ทุกข์กับอนาคตที่ยังไม่เกิด… ทุกข์กับหัวหน้างาน… ทุกข์กับเพื่อนร่วมงาน… ทุกข์กับเรื่องลูก… ทุกข์กับเรื่องครอบครัว…ทุกข์กับเรื่องญาติพี่น้อง…ความทุกข์ต่างๆจริงๆแล้วมันเกิดในจิตใจของเรา จิตใจที่ ไม่อยากทนสภาพที่ไม่พึงใจต่างๆ ที่เรารับรู้เข้ามาจากสัมผัสภายนอกทั้งสิ้น

สมุทัย
      คือสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์เหล่านั้น ลองย้อนดูข้อแรกใหม่ว่าเรามีทุกข์อะไร มันเกิดจากอะไร ความทุกข์ทั้งหมดล้วนเกิดจากความ อยากได้อยากมี อยากเป็น อยากใช้ชีวิต ความทะยานอยากในการใช้ชีวิต ที่ได้เกิดมา ภพชาตินี้ พอไม่ได้ดังต้องการ ก็ก่อเกิดความทุกข์ เช่น…

         เมื่อมีลูก…
      อยากให้ลูกดี อยากให้ลูกเรียนเก่ง อยากให้ทัดเทียมเพื่อน อยากให้ลูกสุขภาพแข็งแรง อยากให้ลูกสำเร็จในชีวิต อยากให้ลูกเรียนสูง เรียนต่างประเทศ ต้องดิ้นรนหาเงินแต่ถ้าไม่เป็นไปตามที่ต้องการ พ่อแม่ก็เกิดทุกข์ทันที ความทุกข์ล้วนเกิดขึ้นจากความอยากทั้งสิ้น

         เมื่ออยากรวย…
      ดิ้นรนทำงานอย่างหนักเพื่อเก็บเงิน อยากมีบ้านหลังใหญ่ อยากมีรถยนต์ราคาแพง อยากไปเที่ยวต่างประเทศ อยากใช้ชีวิตแบบราชา หาโอกาสเพื่อเสี่ยงโชค หรือบางคนมีความอยากมากจนทำผิดศีลธรรม ขายยาเสพติด ด้วยความอยากรวย หากไม่ได้ตามปรารถนา…ก็เกิดความทุกข์ หากทำผิดศีลธรรม ก็ยิ่งเกิดความทุกข์ ครอบครัวก็ทุกข์ คนรอบข้างก็ทุกข์ความทุกข์ล้วนเกิดขึ้นจากความอยากทั้งสิ้น

         เมื่ออยากสอบติด…
       อยากเป็นแบบนั้นแบบนี้ อยากมีอาชีพอย่างนั้นอย่างนี้ อยากเป็นแพทย์ อยากเป็นวิศวะ อยากเป็นทหาร อยากเป็นนักบิน ความทะยานอยากในการใช้ชีวิตในภพชาตินี้ล้วนเป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์

      ผมไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องมี ไม่ต้องสำเร็จ ไม่ต้องเป็นอะไรกันเลยนะครับ แต่กำลังจะอธิบายความทุกข์ที่เกิดขึ้นในจิตใจ เมื่อเข้าใจตัวทุกข์ และฝึกฝนขัดเกลาจิตใจให้มีปัญญา ความทุกข์ที่เผาใจทั้งหลายจะเจือจางเบาบางลง “ อยากให้ทุกคนสามารถดำเนินชีวิตโดยไม่เกิดความทุกข์ ” เข้าใจชีวิต และมีปัญญาในการจัดการความทุกข์ของตนเอง

นิโรธ
      ความดับทุกข์ เมื่อไม่มีทุกข์ นั้นต้องเข้าใจว่า จะมีความรู้สึกอย่างไร แล้วตรวจสอบจิตใจของตัวเองว่า เรามีความต้องการอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่มีทุกข์นั้นหรือยัง ถ้าเรามีความต้องการเพียงพอ เราก็จะรู้ว่า เราต้องละวางสาเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์นี้ในจิตใจ

      “ สุข และทุกข์มันอยู่ที่เดียวกัน ” คืออยู่ในจิตใจ เหมือนเราถือก้อนหินที่หนัก ถือเอาไว้มันก็ทุกข์ แค่วางหินนั้นลงมันก็เบาทันที ความหนัก ความเบา มันอยู่ที่เดียวกัน ความสุข ความทุกข์ มันอยู่ที่จิตใจของเราเอง

มรรค
      แนวทางปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่ความดับทุกข์ ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดที่อยากให้ทุกท่านได้ลองศึกษาทำความเข้าใจ “ แนวทาง 8 ประการ ” ที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์ ดับทุกข์ในจิตใจของเรา ทุกข์ต่างๆที่เกิดขึ้นเราไม่สามารถไปดับเรื่องภายนอกได้ แต่การดับทุกข์นั้นสามารถดับได้ที่ทันทีภายในจิตใจของเรานั่นเอง